Apec 2022 - APECprompt Thaiprompt

ไทยเปิดฉากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย สานต่อประเด็นการค้าการลงทุนและการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ถือเป็นการเริ่มต้นสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นทางการ โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสานต่อการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทั้ง 4 ครั้ง ที่ได้จัดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2564, เดือนกุมภาพันธ์ 2565, เดือนพฤษภาคม 2565 และเดือนสิงหาคม 2565

ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้ายนี้ นายธานี ทองภักดี ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยมีนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้น 2 วัน และแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมวันแรกที่ครอบคลุมช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคมีการหารือร่วมกันในประเด็นด้านการค้า การลงทุน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางด้านกายภาพและด้านดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่ไทยมุ่งผลักดันในการประชุม APEC 2022 คือการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนทุกกลุ่ม และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทุกมิติอย่างไร้รอยต่อ โดยตัวอย่างประเด็นสำคัญของการประชุมในวันแรก ได้แก่ การหารือเรื่องแผนงานการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้มีความต่อเนื่อง รายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปคประจำปี 2565 ในหัวข้อ “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยยั่งยืน” (Structural Reform and a Green Recovery from Economic Shocks) การริเริ่มทำงานตามแผนแม่บทด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงข้อเสนอแนะจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (Safe Passage Taskforce)

ประเด็นการหารือเหล่านี้ ได้สะท้อนถึงการทำงานที่สำคัญของเอเปค เพื่อทำให้การหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มีพลวัตรและเท่าทันความเปลี่ยนแปลง โดยถอดบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และฟื้นสร้างภาคการเดินทางและภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ แผนงานการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้มีความต่อเนื่อง และข้อเสนอแนะจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น คือส่วนหนึ่งของผลลัพธ์สำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นฟูและเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันให้เอเปคสามารถรับมือกับวิกฤติการณ์และโรคระบาดใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง

Shared:

Recent Post

Follow Us

Related Articles

บทความ
Essential to APEC Economic Leaders’ Week (AELW) 2022, hosted by Thailand at Queen Sirikit Convention Center in Bangkok, were the Concluding Senior Officials’ Meetings
บทความ
วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2565 มีการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ในช่วงที่ 3 ต่อเนื่องจากการประชุมในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 โดยมีการหารือกันในประเด็น “การสร้างสมดุลในทุกด้าน” ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุม คือ เจ้าหน้าที่อาวุโสรับทราบสถานะล่าสุดของร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน