Apec 2022 - APECprompt Thaiprompt

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย ชูร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2565 มีการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ในช่วงที่ 3 ต่อเนื่องจากการประชุมในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 โดยมีการหารือกันในประเด็น “การสร้างสมดุลในทุกด้าน” ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุม คือ เจ้าหน้าที่อาวุโสรับทราบสถานะล่าสุดของร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy) 

ร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1) การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ 2) การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3) การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 4) การลดและบริหารจัดการของเสีย ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทางขับเคลื่อน ได้แก่ 1) กรอบระเบียบและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม 2) การเสริมสร้างศักยภาพ 3) สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 4) เครือข่ายสำหรับความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยจะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคพิจารณา เพื่อให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองต่อไป

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อเสนอโครงการจัดตั้งรางวัล APEC BCG ของไทย เพื่อมอบให้แก่บุคคล หรือหน่วยงานที่นำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) สตรี 2) เยาวชน และ 3) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) เพื่อเน้นย้ำบทบาทของกลุ่มคนและภาคส่วนเหล่านี้ รางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ให้ถูกนำไปปรับใช้มากขึ้นในเอเปค และขยายไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป โดยผู้ชนะรางวัลจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากไทย จีน แคนาดา และเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สนใจ ทั้งนี้ จะมีการเปิดตัวกิจกรรมการมอบรางวัลนี้ในที่ประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 33 และจะเริ่มมอบรางวัลนี้ในปีหน้าเป็นต้นไป

แม้ว่าระความยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่หารือกันในเอเปคมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การดำเนินงานด้านนี้ยังกระจัดกระจายตามกลไกต่าง ๆ ของเอเปค เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยรวบรวมการดำเนินงานของเอเปคด้านความยั่งยืนไว้ในที่เดียว และผลักดันการทำงานให้เกิดบูรณาการและเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน รางวัล APEC BCG จะเป็นการถ่ายทอดภาพจำความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพจัดงาน APEC 2022 ของไทยต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการแต่งตั้งผู้อำนวยการของหน่วยสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit – PSU) ของสำนักเลขาธิการเอเปคคนใหม่ และรับฟังเรื่องการเตรียมการจัดการประชุม APEC 2023 จากสหรัฐอเมริกา

Shared:

Recent Post

Follow Us

Related Articles

บทความ
Essential to APEC Economic Leaders’ Week (AELW) 2022, hosted by Thailand at Queen Sirikit Convention Center in Bangkok, were the Concluding Senior Officials’ Meetings
บทความ
วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ถือเป็นการเริ่มต้นสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นทางการ โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสานต่อการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทั้ง 4 ครั้ง ที่ได้จัดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2564, เดือนกุมภาพันธ์ 2565, เดือนพฤษภาคม 2565 และเดือนสิงหาคม 2565